- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
เร่งเครื่องพัฒนาผลิตถั่วเหลือง หวังลดการนำเข้า ดึงเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง สร้างรายได้อย่างมั่นคง
ข่าวที่ 75/2561 วันที่ 12 กรกฎาคม 2561
เร่งเครื่องพัฒนาผลิตถั่วเหลือง หวังลดการนำเข้า ดึงเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง สร้างรายได้อย่างมั่นคง
สศก. บูรณาการร่วมทุกหน่วยปูโครงการพัฒนาการผลิตถั่วเหลืองในปะเทศ ตอบสนองความต้องการใช้ที่มีอย่างต่อเนื่อง ดึงเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เผย ปัจจุบันไทยสามารถผลิตได้เพียง 37,911 ตัน ในขณะที่มีความต้องการใช้ถึง 2.93 ล้านตัน ซึ่งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าถึงร้อยละ 98.70 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมถั่วเหลืองของไทยมีความต้องการใช้ผลผลิตถั่วเหลืองจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีการผลิตถั่วเหลืองในประเทศเพียงร้อยละ 1.30 ของความต้องการใช้ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 98.70 ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมถั่วเหลืองและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยเป็นวงกว้าง ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศ จึงมีความจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ของไทยในอนาคต โดยเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สศก. จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกร โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มีนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์) เป็นที่ปรึกษาการประชุม และมีรองเลขาธิการ สศก. (นางอัญชนา ตราโช) เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองและหาแนวทางการเร่งขยายผลผลิตถั่วเหลืองของไทย
สำหรับผลการหารือทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ควรส่งเสริมให้เกิดการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ เนื่องจากมีความต้องการสูง อีกทั้งถั่วเหลืองที่ผลิตได้ภายในประเทศ เป็นสายพันธุ์ธรรมชาติที่ปราศจากการตัดต่อพันธุกรรม (Non GMOs) จึงเป็นที่ต้องการของตลาดในการผลิตเป็นอาหารปลอดภัย (food safety) ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันหาปัจจัยที่จะสามารถกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองกันมากขึ้น โดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ในลักษณะ Consumer Centric มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต เกษตรกรมีองค์ความรู้ในเรื่องของการผลิตถั่วเหลืองให้ได้คุณภาพ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มในลักษณะเกษตรกรรมแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสามารถลดต้นทุนการผลิตและการตลาด ซึ่งขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชั้นพันธุ์ขยายที่สามารถรองรับพื้นที่การปลูกถั่วเหลืองได้ประมาณ 200,000 ไร่
ทั้งนี้ สถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองของไทย ปี 2561/62 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.132 ล้านไร่ ผลผลิต 37,911 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560/61 ลดลงจากเนื้อที่ 0.135 ล้านไร่ และผลผลิต 38,079 ตัน (ลดลงร้อยละ 2.22 และร้อยละ 0.44 ตามลำดับ) ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 287 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ที่ให้ผลผลิต 281 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14) ซึ่งเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลงเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว ประกอบกับผลตอบแทนจากการปลูกถั่วเหลืองต่ำกว่าพืชแข่งขันชนิดอื่น ส่วนผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภูมิอากาศเอื้ออำนวย โดยราคาเมล็ดถั่วเหลืองเกรดคละที่เกษตรกรขายได้ปี 2561 (มกราคม – พฤษภาคม) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 16.68 บาท
หากมองถึงความต้องการใช้ คาดว่า ปี 2561 จะมีความต้องการใช้ 2.93 ล้านตัน แต่จะเห็นได้ว่าผลผลิตในประเทศมีเพียง 37,911 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.30 เท่านั้น ที่เหลือจึงต้องนำเข้าร้อยละ 98.70 จากประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และแคนาดา โดยนำมาใช้สำหรับกลุ่มสกัดน้ำมัน กลุ่มอาหารสัตว์ (ถั่วนึ่ง) และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทาง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อุตสาหกรรมที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบมีความมั่นใจในเรื่องปริมาณและคุณภาพ และเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองมีรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง สศก. จะได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาการผลิตถั่วเหลืองร่วมกันต่อไป
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร